เทคโนโลยี(หน้าจอ) ภัยร้ายจริงไหม? ทำยังไงในยุคที่เด็กเกิดมาพร้อมกับหน้าจอ
การปล่อยให้เด็กปฐมวัยอยู่กับหน้าจอและใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้จะไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลอีกต่อไป ถ้าหากครูหรือผู้ปกครองมีการใช้อย่างถูกวิธี รู้จักเลือกสื่อที่เหมาะสมกับวัย พร้อมกับดูแลพูดคุยเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงควบคุมและกำหนดเวลาในการใช้หน้าจออย่างเหมาะสม จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ ในทางตรงกันข้ามหากละเลยหรือปล่อยให้เด็กใช้เวลากับการดูหน้าจอในแต่ละวันมากเกินไปและผิดวิธี ย่อมไม่เป็นผลดีกับเด็กทั้งในด้านสุขภาพ รวมไปถึงพัฒนาการในด้านต่าง ๆ และอาจมีอาการผิดปกติที่แฝงมาโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
ว่ากันว่าเด็กเจนเนอเรชันอัลฟ่า หรือเด็กที่เกิดในปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบันเป็นวัยที่เกิดมาพร้อมกับโลกยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ความพรั่งพร้อมด้วยระบบอินเทอร์เน็ตกำลังแรงสูงและเทคโนโลยีใหม่ ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของเค้าแทบทุกเรื่อง ทั้งในด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะ ความบันเทิง การติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ล้วนแต่เปิดโอกาสให้เด็กเจนอัลฟ่ามีโอกาสเรียนรู้และอยู่ติดกับหน้าจอเสมอ ทว่าข้อมูลที่เราคุ้นเคยกันดีของภัยร้ายกับการปล่อยให้เด็กเรียนรู้ผ่านหน้าจอกลับทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราเกิดข้อกังวลตลอด วันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่าแท้จริงแล้วการเรียนรู้ผ่านหน้าจอหรือเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ มีประโยชน์หรือโทษอย่างไรบ้าง
จริง ๆ แล้วการปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้หรือทำกิจกรรมผ่านหน้าจอหรือเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ บ้างไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป เพราะต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่าเด็กในวัยนี้เค้าเกิดมาคู่กันกับโลกของดิจิทัลจริง ๆ และยังต้องบอกอีกว่าในยุคนี้มีสื่อการเรียนรู้ที่ผลิตออกมาในรูปแบบดิจิทัลเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กออกมามากมายที่ล้วนแล้วแต่สร้างความน่าสนใจ และเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาของเด็กได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างเราที่จะต้องเลือก คัดสรร แบ่งเวลา และคอยดูแลให้ข้อแนะนำอย่างใกล้ชิด คอยหมั่นมีปฏิสัมพันธ์กับเค้าอย่างสม่ำเสมอไม่ปล่อยให้เด็กเรียนรู้เองเพียงลำพัง อีกทั้งยังต้องมีการจัดสรรเวลาที่แน่นอนโดยปล่อยให้เด็กได้มีอิสระในการเลือกเวลาเพื่อช่วยพัฒนาทักษะการตัดสินใจ การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเรียนรู้ที่จะควบคุมพฤติกรรมของตนเองอีกด้วย
ในทางตรงกันข้ามหากละเลยหรือปล่อยให้เด็กใช้เวลากับการดูหน้าจอในแต่ละวันมากเกินไปและผิดวิธีย่อมไม่เป็นผลดีกับเด็กทั้งในด้านสุขภาพร่างกายและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กปฐมวัย เพราะแสงสีฟ้าหรือการเคลื่อนไหวในหน้าจอล้วนเป็นอันตรายและขัดขวางพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ทั้งในด้านภาษา การรู้หนังสือ กระบวนการคิด พฤติกรรมและอารมณ์ นอกจากนั้นยังมีอาการผิดปกติที่แฝงมาอย่างไม่รู้ตัวกับการให้เด็กใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป ดังนี้
1.เสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น
เนื่องจากเด็กจะจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วทันใจผ่านภาพและเสียงที่อยู่บนจอตลอดเวลา ส่งผลให้เด็กเสียสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับการดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน เวลาจะสอนหรือทำกิจกรรมเสริมพัฒนาการต่าง ๆ เด็กจะให้ความสนใจน้อยลง และมีความจำที่ลดลงได้อีกด้วย
2.เสี่ยงเป็นออทิสติกเทียม
เนื่องจากการปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอนาน ๆ เด็กจะได้รับการสื่อสารทางเดียว ไม่มีโอกาสได้ฝึกพูดโต้ตอบกับคนอื่น ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสารและทักษะการเข้าสังคมช้ากว่าปกติ รวมถึงส่งผลให้เด็กพูดช้าและพูดไม่ชัดอีกด้วย
3.เสี่ยงเป็นโรคสายตาสั้นเทียม
เนื่องจากเด็กใช้สายตาเพ่งมองหน้าจอเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีปัญหาด้านสายตาเกิดภาวะที่เรียกว่าตาเพ่งค้าง ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดหัว ตาพร่าได้ หรืออาจส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นเป็นโรคตา เช่น กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จอประสาทตาเสื่อมเร็วและปลายประสาทอักเสบได้อีกด้วย
ถ้าหากครูหรือผู้ปกครองมีความต้องการหรือจำเป็นในการให้เด็กปฐมวัยใช้หน้าจอและเทคโนโลยีในการเรียนรู้ ควรทำการศึกษาหาข้อมูลเวลาการใช้หน้าจอของเด็กแต่ละช่วงวัยควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการเช็กให้เเน่ใจว่าควรให้เด็กได้ใช้เวลากับหน้าจอมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน โดยสามารถแบ่งเวลาในการใช้หน้าจอที่เหมาะสมตามช่วงวัยของเด็ก อ้างอิงจาก สถาบันกุมารแพทย์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ดังนี้
ดังนั้น ไม่อาจปฎิเสธได้เลยว่าเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กเจนอัลฟาอย่างสมบูรณ์แบบ การใช้หน้าจอและเทคโนโลยีในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยนั้น จะเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของครูหรือผู้ปกครองเป็นสำคัญ รวมไปถึงการควบคุมและแบ่งเวลาในการใช้งานอย่างเหมาะสม จะทำให้เด็กได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อย่างสนุกสนาน จนเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้มองเห็นความชอบหรือความสนใจของเด็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการความถนัดของเค้าให้ถูกทาง จนกลายเป็นเด็กที่มีศักยภาพในการทำสิ่งที่ตัวเองชอบได้เป็นอย่างดี เรามาช่วยกันเลี้ยงเด็กธรรมดาให้มีความสุขไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพของสังคม
แหล่งอ้างอิง https://www.aksorn.com/technology-bad-effect