จาก STEM สู่ STEAM กับแผนปั้นผู้เรียนคุณภาพ
เด็กยุคใหม่จะเรียนรู้จากในตำราเรียนอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเอา STEM มาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ด้วย
ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ครูผู้สอนสามารถสร้างได้จากกิจกรรมในห้องเรียน
เมื่อเด็กในปัจจุบันคือความหวังของประเทศชาติในอนาคต “ครู” ในฐานะแม่พิมพ์ของชาติ ต้องสอนอย่างไรให้ผู้เรียนฉลาดทั้งด้านศาสตร์วิชาและศิลปะแห่งการคิดสร้างสรรค์พร้อมในคนเดียว ปริศนาแห่งความกังวลใจของครูถูกไขด้วยกุญแจสำคัญอย่าง STEM / STEAM EDUCATION เครื่องมือสำคัญที่จะใช้กับผู้เรียนในยุคนี้
จาก STEM เป็น STEAM อะไรคือความแตกต่าง?
ความต่างระหว่างคำสองคำที่เห็นได้ชัดสุดคือตัว A ที่เพิ่มมา คำถามคือ A มีความสำคัญอย่างไรถึงนำมาใส่ใน STEM
ความจริงแล้วตัว A มาจากคำว่า ART ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่ถูกนำมาเป็นทักษะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ผ่านการต่อยอดจาก STEM เป็น STEAM ซึ่งถือเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ผสานรวมกับศิลปะที่จะช่วยกระตุ้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การสร้างแรงบันดาลใจ ความสุขในการเรียนรู้ สู่การเติบโตอย่างมีสมดุล นั่นถือเป็นทักษะจำเป็นแห่งศตวรรษ 21 ที่ครูทุกคนควรต้องรู้และนำมาปรับใช้กับการสอนในห้องเรียนจริง ซึ่งการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ อาจนำไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีได้ และถ้าครูลองมองย้อนกลับไป จะพบว่าในหลายกิจกรรมจะมีกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งทักษะทางความคิดและการออกแบบร่วมกัน อย่างกิจกรรมที่ฝึกให้ผู้เรียนปั้นแป้งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการเพื่อทำขนมบัวลอย หรือกิจกรรมว่าวสร้างสรรค์ ที่ให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบโครงว่าวเป็นรูปทรงต่าง ๆ
อย่างที่ทราบกันดีว่าในศตวรรษ 21 ทักษะการคิดถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งแนวคิดในการรับมือกับปัญหาและนำเสนอทางออกของปัญหาต่าง ๆ ล้วนต้องอาศัยทักษะการคิดชั้นสูง ซึ่งหากจะอ้างอิงตามแนวคิดพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ระดับการเรียนรู้แล้ว ต้องอาศัยการทำงานของสมองเป็นหลัก เพื่อให้จดจำข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ก่อนนำมาสู่การทำความเข้าใจและนำข้อมูลไปปรับใช้ในสถานการณ์อื่นได้อย่างเหมาะสม แล้วจึงนำข้อมูลมาผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เพื่อให้สามารถวางแนวทางแก้ปัญหาในการต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพิ่มได้ ซึ่งเหตุผลต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นล้วนต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะ STEAM ครบทุกมิติ
ถ้าจะให้กล่าวอย่างชัดเจน กระบวนการเรียนรู้แบบ STEAM ควรให้ความสำคัญและเริ่มสอนสอดแทรกในห้องเรียนตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ให้ผู้เรียนคุ้นชินกับทักษะการคิดและการวิเคราะห์ปัญหา เริ่มจากประเด็นเล็กน้อยใกล้ตัวสู่ปัญหายิ่งใหญ่ระดับประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้ รู้หนทางนำพาตัวเองและประเทศชาติให้รอดพ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างได้ผล
แหล่งอ้างอิง https://www.aksorn.com/stem