รวบตึงตัวอย่าง แนวการจัดกิจกรรม ให้เด็กได้สมรรถนะปฐมวัย

 

ร้องเพลงประกอบจังหวะ : เน้นการเคลื่อนไหวและสุขภาวะทางกาย

เทคนิคการสร้างสมรรถนะการเคลื่อนไหวและสุขภาวะทางกาย

  1. ฟังจังหวะของเพลงไปพร้อมกัน 1 รอบ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับจังหวะของเพลง
  2. เริ่มให้เด็กทำท่าประกอบจังหวะไปพร้อมกัน เพลงช่วยสร้างการจดจำให้เด็กได้ ครูสามารถทำท่าทางประกอบจังหวะและร้องเพลงไปพร้อมกัน ฝึกซ้ำ ย้ำบ่อย ๆ สร้างการจดจำให้เด็กได้

**เด็กจะได้บริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กและใหญ่ไปพร้อมกับฝึกประสาทสัมผัสกับการเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน**
ดาวน์โหลดเพลงประกอบการสอนได้ที่ www.aksorn.com/download

 

 

 

 

การทดลองวิทยาศาสตร์ : เน้นด้านการคิดและสติปัญญา

ไอเดียการจัดกิจกรรมปั้นเด็กนักวิทยาศาสตร์ ฝึกการสังเกตกับทิศทางของเงา ผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอนนี้ !

ขั้นนำ : สร้างข้อตกลงร่วมกันในห้องเรียน
ก่อนเริ่มทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เราต้องสร้างข้อตกลงเพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันเช่น “วันนี้เราจะไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนกัน เด็ก ๆ ต่อแถวให้เป็นระเบียบและไม่ส่งเสียงดัง”

ขั้นสอน : ให้เด็กสนุกที่จะเรียนรู้จากการทดลองและการสังเกตเรื่องของเงาด้วยตนเองเช่น การให้เด็กยืนหรือทำท่าทางต่าง ๆ เพื่อดูทิศทางของเงา หรือการล้อมวงกับเพื่อน ๆ เพื่อสังเกตสิ่งของที่เตรียมมาว่าเงาอยู่ทิศทางใด เพื่อฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์

ขั้นสรุป :
จากนั้นให้เด็กทบทวนความรู้ด้วยกิจกรรมในหนังสือเสริมประสบการณ์บูรณาการปฐมวัย สาระธรรมชาติรอบตัว แล้วเสริมความเข้าใจด้วยกิจกรรมในใบงาน

ขั้นประเมินผล :
ประเมินผู้เรียนจากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กตั้งแต่การเรียนรู้นอกห้องเรียนไปจนถึงการทำกิจกรรมในหนังสือเรียนและใบงาน ด้วยแบบประเมินพัฒนาการท้ายหน่วยประเมินพัฒนาการ 4 ด้าน ตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรและสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้ตามระดับ

**เด็กใช้การสังเกต และการทดลองวิทยาศาสตร์เป็นการฝึกเด็กให้คิดแบบมีวิจารณญาณในการคิดหาเหตุผล**
สามารถดูฉบับเต็มเล่มในรูปแบบ e-Book ได้ที่ www.aksorn.com/catalog

เล่านิทาน : เน้นด้านภาษา

3 เทคนิคการเล่านิทานให้เด็กได้สมรรถนะด้านภาษา!

เน้นคำแสดงความรู้สึก
ลองชี้ให้เด็กสังเกตสีหน้าของตัวละครในภาพนิทาน

ให้เด็กมีส่วนร่วม
คุณครูลองถามคำถามเด็ก ๆ ให้พวกเขามีส่วนร่วมกับนิทานเรื่องนั้น ๆ แล้วเปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงความคิดเห็น

เพิ่มกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างการจดจำนิทานในเรื่องด้วยกิจกรรม เช่น กิจกรรมถามตอบ หรือจัดกิจกรรมบทบาทสมมุติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กฝึกการสื่อสารได้ดี

**3 เทคนิคนี้จะช่วยให้เด็กมีสมรรถนะด้านภาษา ฝึกให้เด็กเข้าใจและสามารถสื่อสารได้เร็วขึ้น หรือการเล่นบทบาทสมมุติก็สามารถแสดงออกและสื่อความหมายด้วยท่าทางและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้**

 

การเล่นบทบาทสมมุติ : เน้นด้านสังคม

การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์บทบาทสมมติ (Role Playing) การจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองนั้นจำเป็นที่ผู้สอนจะต้องมีการวางแผนและเตรียมการมาเป็นอย่างดี โดยการเตรียมการนั้นควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญดังนี้

  • เรื่องเวลาไม่ควรจำกัดหรือกำหนดเวลาตายตัวในการแสดง เพื่อให้เด็กแสดงได้อย่างเต็มศักยภาพ
  • ให้เด็กมีส่วนร่วมตามความเหมาะสมกับความสามารถ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความภูมิใจในตนเอง
  • ให้เด็กได้เลือกเนื้อเรื่องที่จะแสดงตามความสนใจของเด็ก
  • ผู้สอนและเด็กร่วมกันวางแผนและจัดฉากในการแสดงอย่างง่าย
  • จัดบรรยากาศให้เด็กอยากมีส่วนร่วม ไม่สร้างความเครียด และให้เด็กได้แสดงออกอย่างเสรีภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน
  • ให้เด็กรู้จักการทำงานร่วมได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันจากการทำงานเป็นกลุ่ม และยอมรับฟังผู้อื่นโดยไม่เอาความคิดเห็นตัวเองเป็นที่ตั้ง
  • ให้เด็กได้สลับสับเปลี่ยนบทบาทในการแสดงสามารถแสดงได้ทุกบทบาทที่ได้รับมอบหมาย
  • เน้นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาและสาระความรู้ที่ได้จากการแสดงและไม่จับผิดเด็กอย่างเดียว

**ฝึกทักษะการปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน ๆ ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าความแตกต่างโดยการแสดงบทบาทสมมุติ**

 

เล่นเกม/จัดกิจกรรม : เน้นด้านอารมณ์

กิจกรรมส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)

#กิจกรรมเรียนรู้ผ่านเกม ให้เด็กเข้าใจความสามารถของตัวเองในการเล่นเกม เกมจะช่วยฝึกการยอมรับและควบคุมอารมณ์ของตัวเด็กเองตามสถานการณ์การเล่นเกมในขณะนั้น สำหรับเด็กที่เล่มเกมได้สำเร็จก็ต้องมีน้ำใจไม่ดูถูกเยาะเย้ยผู้ที่ทำไม่ได้ ส่วนเด็กที่ทำไม่ได้ก็ต้องยอมรับความจริงและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองเป็น

#อารมณ์ฉัน อารมณ์เธอ ให้เด็กทายอารมณ์ในบัตรภาพ จากนั้นกำหนดอารมณ์ให้เด็ก แล้วให้เด็กหาภาพตามนิตยสารต่างๆ เกี่ยวกับอารมณ์ที่กำหนด และสอนให้แสดงสีหน้าของตนเองตามอารมณ์นั้น ๆ เมื่อทำกิจกรรมเสร็จ ให้ทบทวนอารมณ์และแนะนำวิธีจัดการความโกรธที่เหมาะสม เช่น หายใจเข้าออกช้า ๆ นับเลข 1-10 และสอน i-message

#เกมอยากเป็นคนดีต้องทำอย่างไร หาเหตุการณ์ที่เป็นตัวอย่างให้กับเด็กทั้งดีและไม่ดี เช่น ปาของใส่เพื่อน ขโมยกล่องดินสอเพื่อน ช่วยครูยกของ ช่วยคุณแม่ทำงานบ้าน เป็นต้น แล้วให้เด็กตอบว่าเหตุการณ์นี้ดีหรือไม่ จากนั้น ให้เด็กช่วยกันคิดสถานการณ์ที่ตนเองเคยทำ ทั้งดีและไม่ดี แล้วแชร์ผลดีและผลเสียของเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อทำกิจกรรมเสร็จ ควรสรุปถึงผลดีและผลเสียที่ได้

 

**เวลาเด็กทำกิจกรรมหรือเกมต่าง ๆ เด็กจะได้ฝึกการควบคุมอารมณ์ตนเอง ฝึกความกล้าคิดกล้าทำกล้าแสดงความสามารถที่มีอยู่ในตัวเองได้**

สาธิตเป็นตัวอย่าง : เน้นด้านจริยธรรม

กิจกรรมสอนล้างจานถูกวิธี สร้างวินัยดี
เมื่อเริ่มเข้ากิจกรรม ชวนเด็กทักทายสวัสดีกันก่อน แล้วฝึกให้เด็กเตรียมพร้อมก่อนเริ่มกิจกรรม ด้วยการนั่งสมาธิ 3-5 นาที

  • ให้เด็ก ๆ เห็นความสำคัญของวินัยการล้างจาน อาจเริ่มต้นด้วยการเล่านิทาน ร่วมพูดคุย หรือทำกิจกรรมที่ให้เด็กเห็นประโยชน์และโทษ เช่น ถ้าล้างจานถูกต้องและสะอาดจะช่วยให้เด็กไม่ติดเชื้อโรค ร่างกายจะแข็งแรง เป็นต้น
  • ครูทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นวิธีการล้างจานที่ถูกต้อง ขั้นนี้จะแฝงเรื่องวินัยการล้างจานตามลำดับขั้นตอนให้เด็กไว้ด้วย
  1. จับจาน : สี่นิ้วอยู่ใต้จาน ขอบจานชิดง่ามมือระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ นิ้วโป้งกดจานด้านบน
  2. จุ่ม : จับจานตั้งฉากกับผิวน้ำในอ่างล้างจาน ค่อย ๆ เอียงจานจุ่มน้ำช้า ๆ ไม่ให้น้ำกระเซ็น
  3. ถู : วางผ้าล้างจานบนจานที่ล้าง กางฝ่ามือกดผ้าหมุนตามขอบจานด้านนอกหมุนเข้าหาด้านใน พร้อมให้เด็กออกเสียง 1 2 3 4 (ครูแบ่งน้ำเพื่อล้างจานดังนี้ น้ำเปล่า 2. น้ำยาล้างจาน 3. น้ำเปล่า 4. น้ำเปล่า)
  4. ยก : เด็กจับขอบจาน (มือเดียว หรือสองมือ ตามความถนัด) ค่อย ๆ เอียงตั้งฉากให้พ้นน้ำ
  5. เช็ด : วางจานบนโต๊ะ และวางผ้าเช็ดจานบนจาน วางฝ่ามือกดบนผ้าหมุนจากขวาไปซ้าย (ให้เด็กทำสลับกันทั้งมือซ้ายและขวา บนและล่าง)
  6. คว่ำตากจาน : นำจานที่เช็ดแล้วไปคว่ำตากแดด

#พัฒนาการครบ 5 ด้าน ที่เด็กได้จากกิจกรรมนี้!
ด้านอารมณ์ – เด็กต้องสนุก ไม่ถูกบังคับให้ทำกิจกรรม
ด้านการรู้คิด – จดจำลำดับขั้นตอนวิธีการล้างจานที่สะอาดและถูกต้อง รวมถึงความสามารถในการคิด หากล้างจานไม่สะอาดจะเป็นอย่างไร
การสื่อสาร – เด็กสามารถสื่อสารกับครู และเพื่อน ๆ ได้ สามารถพูดออกเสียงทำตามจังหวะ 1 2 3 4 ได้
ทางสังคม – มีความรับผิดชอบ ทำให้ครูและผู้อื่นเชื่อมั่นว่าสามารถล้างจานให้สะอาดได้ด้วยตนเอง
ด้านศีลธรรม – ไม่หวังคำชม แต่ตั้งใจทำตามขั้นตอนและสะอาด เมื่อทานข้าวเสร็จควรเก็บล้างให้สะอาด ซึ่งเป็นวินัยที่ควรปลูกฝัง

การฝึกวินัยจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่เด็กทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (ครูควรชมเชยเด็กทุกครั้งถ้าพวกเขาปฏิบัติได้ถูกต้อง) เพื่อให้พวกเขาปรับตัวและอยู่ร่วมกันในสังคมได้

**สมรรถนะด้านจริยธรรมสามารถสร้างได้จากสิ่งที่เด็กต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ สอนเพื่อให้เด็กมีระเบียบวินัยและต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน**

กิจกรรมศิลปะ: เน้นด้านสร้างสรรค์

ไอเดียสร้างกิจกรรมศิลปะ จากสิ่งรอบตัว

สร้างจินตนาการผ่านงานศิลปะ แค่มีอุปกรณ์ไม่กี่อย่าง ก็สามารถสร้างจิตรกรตัวน้อยได้! อุปกรณ์

  1. ใบไม้รอบบ้านหรือสิ่งของธรรมชาติที่สามารถนำมาสร้างงานศิลปะ
  2. กาว สี กระดาษ หรือใบงานที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติ

เริ่มทำกิจกรรมกันเลยค่ะ

  1. ชวนเด็กเก็บใบไม้ หรือสิ่งของธรรมชาติที่อยู่รอบบ้าน
    เรายังไม่เฉลยว่าให้เด็กเก็บมาทำอะไร เพราะช่วงเวลานี้ให้เด็กเพลิดเพลินกับธรรมชาติรอบตัวและการเก็บใบไม้ตามความชอบของเขาได้เลย
  2. มาสร้างต้นไม้ต้นใหม่ด้วยมือเด็ก ๆ เอง
    สี กาว กระดาษ หรือใบงานศิลปะเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เตรียมบนโต๊ะให้พร้อม แล้วมาเฉลยว่าเด็กต้องทำกิจกรรมศิลปะจากวัสดุที่เด็กเก็บมานั่นเอง เราสามารถให้เด็กแต่งเติมงานของเขาได้ โดยที่เราคอยดูอยู่ห่าง ๆ ค่ะ

แค่ 2 ขั้นตอน กับอุปกรณ์เพียงเล็กน้อย ก็สามารถให้เด็กเรียนรู้สาระธรรมชาติรอบตัว และพัฒนาการคิด จินตนาการ

**กิจกรรมศิลปะเพื่อให้เด็กได้หยิบจับ ปั้น วาดภาพ หรือการประดิษฐ์และสามารถสร้างเป็นชิ้นงานได้จากการคิดและจินตนาการ

แหล่งอ้างอิง  https://www.aksorn.com/guide-for-kid-activities