เด็กLD เป็นแล้วจะหายไหม! ปัญหาที่คุณครูสงสัย เรามีคำตอบให้ในบทความนี้

 

เด็กLD

 

 

  • เด็ก LD  มีความบกพร่องจาก 3 ด้านหลัก ๆ คือ 1.ด้านการอ่าน 2.ด้านการเขียน 3.ด้านการคำนวณ

  • ปัจจุบันมีเด็กไทย โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-2 กว่า 70,000 คน มีความบกพร่องทางการ เรียนรู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ตามวัย

  • การช่วยเหลือดูแลแบบบูรณาการ จากความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือเด็ก ทั้งทางครอบครัว คุณครู โรงเรียนและทางการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็น

 

ทำไมเราต้องหันมาสนใจเรื่องของ LD มากขึ้น  เพราะมีเด็กไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-2 มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ตามวัย กว่า 70,000 คน และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขและดูแลที่มากพอ

ทำความรู้จัก เด็กLD
LD (Learning Disabilities) คือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หลัก ๆ มีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ ด้านการอ่าน ด้านการเขียน และการคำนวณ…เด็ก LD จะเหมือนเด็กปกติทั่วไปมาก แต่เมื่อเข้าเรียนจะเห็นชัดว่าเด็ก LD จะเบื่อการอ่าน อ่านหนังสือไม่เข้าใจ อ่านแบบตะกุกตะกัก และวิชาที่เป็นปัญหาสำหรับเด็ก LD มาก ๆ คือ คณิตศาสตร์ เนื่องจากเด็กอ่านไม่ออก จับใจความไม่ได้ทำให้ตีโจทย์ไม่เป็น สำหรับอาการของเด็ก LD จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

เด็กLD กลุ่มที่มีปัญหาในการอ่านหนังสือ

 

1. กลุ่มที่มีปัญหาในการอ่านหนังสือ (Dyslexia)

อาจจะอ่านไม่ออก หรืออ่านได้บ้าง แต่สะกดคำไม่ถูก ผสมคำไม่ได้ สลับตัวพยัญชนะ สับสนกับการผันสระ วรรณยุกต์

 

เด็กLD กลุ่มที่มีปัญหาในการเขียนหนังสือ

 

2. กลุ่มที่มีปัญหาในการเขียนหนังสือ (Dysgraphia)

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะเขียนอะไร แต่ก็เขียนไม่ได้ หรือเขียนได้ช้า เขียนตกหล่น เขียนพยัญชนะสลับกัน หรือคำเดียวกันแต่เขียนสองครั้งไม่เหมือนกัน บางคนเขียนแบบสลับซ้ายขวาเหมือนส่องกระจก ลายมือโย้เย้ ขนาดของตัวอักษรไม่เท่ากัน ขึ้นลงไม่ตรงบรรทัด ไม่เว้นช่องไฟ ที่เป็นแบบนั้นเพราะเกิดจากมือและสายตาทำงานไม่ประสานกัน หรือการรับภาพของสมองไม่เหมือนคนอื่น ๆ

 

เด็กLD กลุ่มที่มีปัญหาในการคำนวณ

 

3. กลุ่มที่มีปัญหาในการคำนวณ (Dyscalculia)

อาจจะคำนวณไม่ได้เลย หรือทำได้แต่สับสนกับตัวเลข ไม่เข้าใจสัญลักษณ์ ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข บางคนสับสนตั้งแต่การจำเครื่องหมายบวก ลบ คูณ หาร ไม่สามารถจับหลักการได้ เช่น หลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อยต่างกันไหม บางคนบวกลบเป็น เข้าใจเครื่องหมาย แต่ตีโจทย์คณิตศาสตร์ไม่ได้

 

แต่พฤติกรรมเหล่านี้เป็นแค่พฤติกรรมที่มีภาวะเสี่ยงเป็น LD เท่านั้น ซึ่งจะมีเกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5** ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ที่จะมาช่วยในการคัดกรอง ซึ่งวิธีการคัดกรองนี้ไม่สามารถเหมารวมเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงว่าเป็นเด็ก LD ได้ทั้งหมด เพราะในความจริงแล้วยังมีเด็กอีกประเภทหนึ่งที่มีพฤติกรรมคล้ายเด็ก LD แต่สามารถหายได้ในระยะเวลานึง นั้นคือเด็ก LD เทียม

 

เด็กLD เทียมหรือแท้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปการใช้ชีวิตของเด็ก ๆ จึงเปลี่ยนตาม ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีทำให้เด็กเข้าถึงและเสพสื่อต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาจะถูกเร้าและกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยภาพตลอดเวลา ทำให้เด็กชินต่อสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าสิ่งที่อยู่ข้างหน้าพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่กระตุ้นความสนใจมากพอ เช่น การสอนของครู การทำแบบฝึกหัดนาน ๆ เด็กก็จะมีพฤติกรรมคล้ายเด็กLD เทียม หรือเด็กสมาธิสั้น คือจะสนใจในเรื่องตรงหน้าไม่ได้นาน ซึ่งบางทีเราก็แยกไม่ออกว่าพฤติกรรมที่เด็ก ๆ เป็นอยู่ โตขึ้นเขาจะหายไปเอง หรือจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการแยกความแตกต่างของเด็ก LD แท้ และเด็ก LD เทียม จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขและรักษาได้ตรงจุด

 

เด็ก LD คือเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ มีความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้สมองถูกจำกัดความสามารถในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ หรือการจดจำ และอาจพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ถึงร้อยละ 40-50

 สำหรับเด็ก LD เทียมหรือโรคสมาธิสั้น (ADHD) เป็นความผิดปกติจากการที่เด็กไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดได้นาน มีปัญหาในการพูด การอ่าน การเขียน การคำนวณ ทำให้มีทักษะการเรียนรู้ด้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ปัจจุบันพบภาวะสมาธิสั้นในเด็กวัยเรียนได้สูงถึง ร้อยละ 5-10 นั่นหมายความว่า ในห้องเรียนที่มีเด็กเรียน 30 คน จะต้องมีเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น อย่างน้อย 2-3 คนเลยทีเดียว

ความแตกต่างของเด็กทั้ง 2 กลุ่มนี้ ต้องคอยสังเกต อาศัยการเอาใจใส่ และรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ การดูแลเด็ก LD เทียมควรแก้ไขที่สาเหตุเป็นหลัก แล้วภาวะ LD เทียม หรือสมาธิสั้นจะหายไป แต่สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD แท้ ต้องเข้าพบแพทย์ และได้รับการดูแลอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป

LD เป็นแล้วหายไหม? 
เมื่อพูดถึงคำว่าเด็ก LD (Learning Disabilities) คุณครูหลายคนคงกังวลเรื่องการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กเหล่านี้ไม่มากก็น้อย เพราะความพิเศษของเด็ก LD นั่นไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเข้าถึงและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ นั้นก็เพราะพวกเขามีความบกพร่องจาก 3 ด้านหลัก ๆ คือ 1.ด้านการอ่าน 2.ด้านการเขียน 3.ด้านการคำนวณ และอาจมีความบกพร่องเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้านก็ได้…หากเด็ก LD ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เมื่อโตขึ้นก็สามารถเข้าสังคมได้ หรือสามารถประกอบอาชีพได้เหมือนปกติ ซึ่งในอดีตอาจจะเป็นเรื่องยากอยู่ ที่จะทำให้เด็กเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ แต่ในปัจจุบันกับการพัฒนาคิดค้นรูปแบบการศึกษาพิเศษของเหล่านักวิชาการ ทำให้เด็ก LD มีช่องทางในการเรียนรู้ และศึกษาได้มากขึ้น

บูรณาการให้ดี เด็กLD ก็สามารถมีความสุขกับการใช้ชีวิตได้  
เมื่อเด็กได้รับการยืนยันผลการตรวจวินิจฉัยว่าเป็น LD แล้ว คุณครูควรให้ความช่วยเหลือแบบบูรณาการ และมองปัญหาอย่างรอบด้าน โดยอาศัยความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือเด็ก ทั้งทางครอบครัว คุณครูโรงเรียนและทางการแพทย์ เช่น

ด้านครอบครัว เป็นบทบาทสำคัญมากที่สุด และสิ่งที่คนในครอบครัวต้องปฏิบัติคือ
1.เข้าใจและควรปรับตัวให้เด็ก LD ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาหรือสร้างปัญหาให้กับครอบครัว
2.เด็กควรได้รับความช่วยเหลือมากกว่าคำตำหนิติเตียน คุณครูอาจมีส่วนช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก LD ด้วยการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ LD กับผู้ปกครอง และผู้ปกครองก็ควรค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ เพิ่มเติม
3.เข้าใจในข้อจำกัดของเด็ก และให้มีทักษะเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือด้านการเรียนรู้สำหรับเด็ก
4.คอยเสริมกำลังใจ ค้นหาจุดเด่นในด้านอื่น ๆ ชดเชยในจุดที่บกพร่อง

ด้านการเรียน สิ่งที่จำเป็นอันดับแรก คือ
1.คุณครูอาจสอนเสริมพิเศษแบบตัวต่อตัว หรือกลุ่มเล็ก ๆ สำหรับเด็ก LD ที่มีความบกพร่องทางด้านทักษะนั้น ๆ เช่น ถ้าเด็กมีความบกพร่องด้านการอ่านการเขียน คุณครูอาจหาหนังสือหรือสื่อสำหรับเด็ก LD มาฝึกฝน
2.พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความเป็นไปของเด็กระหว่างคุณพ่อคุณแม่และคุณครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจปัญหาและร่วมมือกันแก้ไข ถ้าไม่มีเวลาหรือโอกาสพบปะกันโดยตรง อาจใช้การเขียนในสมุดการบ้านของเด็กเพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบ หรือมีสมุดไว้เขียนสื่อสารระหว่างกัน
3.จัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการจัดแผนฯ IEP

 

แผนฯ IEP

 

          แผนฯ IEP คือแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ( IEP ) ย่อมาจาก INDIVIDUALIZED EDUCATION PROGRAM คือ แผนกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้ได้รับการพัฒนาตามเป้าหมายที่กำหนด ในแผนฯ จะมีการกำหนดสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลือทางการศึกษา ที่สอดคล้องเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เหล่านี้โดยเฉพาะ

ทำไมต้องจัดทำ IEP
IEP เป็นแผนฯ หรือโปรแกรม ที่ช่วยให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ตรงจุด เน้นพัฒนาการด้านสังคม วิชาการ และความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกับครู โรงเรียน และผู้ปกครอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ตามความเหมาะสม

มาดูขั้นตอนจัดแผนฯ แบบ IEP กัน
1.ขั้นเตรียมการ
รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เช่น ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสุขภาพ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสัมภาษณ์ สอบถาม สังเกต หรือตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเด็กแต่ละคน
2.ขั้นเตรียมแผนการสอน
ประเมินความสามารถพื้นฐานด้านการอ่าน เขียนและคำนวณ ด้วยแบบทดสอบ หรือแบบฝึกก่อนเรียน หลังจากนั้นค่อยกำหนดแนวทางการศึกษาและวางแผนการจัดการศึกษาพิเศษ ด้วยการนำผลตรวจหรือผลการประเมินมากำหนดเป็นแผนระยะยาว 1 ปี
3.ขั้นสอนและนำไปใช้
ครูเริ่มสอนตามขั้นตอนในแผนฯ IEP โดยเริ่มจากขั้นนำ กระตุ้นให้เด็กมีความสนใจกับการเรียนการสอน เข้าสู่เนื้อหา ฝึกปฏิบัติ และทบทวนความเข้าใจ
**ทั้งนี้การนำแผนจัดการเรียนการสอน IEP มาใช้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
4.ขั้นประเมินผลการเรียนรู้
บันทึกผลการสอนและการจัดกิจกรรม ด้วยการประเมินโดยใช้เครื่องมือและเกณฑ์ที่กำหนด ว่าเป็นไปตามที่วางแผนฯ ไว้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามแผนฯ ควรวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและปรับแผนการสอนต่อไป
5.ขั้นสรุปและรายงานผล
สรุปตามแผน IEP โดยการนำผลมาเทียบกับเกณฑ์การประเมิน หลังจากนั้นรายงานประเมินความก้าวหน้าให้กับผู้ปกครองรับทราบ
6.ขั้นส่งต่อ
ขั้นนี้เป็นการส่งต่อเด็กที่จบการศึกษา หรือย้ายโรงเรียน ต้องนำแผน IEP เพื่อใช้เป็นข้อมูลต่อไป

 

นี่คือพื้นฐานที่ผู้ปกครอง คุณครู โรงเรียน รวมถึงแพทย์ ควรร่วมมือกันรักษา ดูแล ตามความบกพร่องของเด็ก LD เพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพของเด็ก ๆ ให้อยู่ร่วมในสังคมได้ไม่แตกต่าง หวังว่าบทความนี้อาจเป็นความรู้ให้กับคุณครูที่มีเด็ก ๆ ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษได้ไม่มากก็น้อย

 

 

แหล่งอ้างอิง  https://www.aksorn.com/childrenld