เปิดตัวสถาบัน EdCA พัฒนาหลักสูตรโค้ดดิ้ง โดย อักษร เอ็ดดูเคชั่น ร่วมกับ ม.ขอนแก่น
- Posted by EdCA Instutute
- หมวดหมู่ กิจกรรม
- Date 11 กันยายน 2020
- Comments 0 comment
- Tags
เปิดตัวสถาบัน EdCA เพื่อพัฒนาหลักสูตร โค้ดดิ้งทักษะแห่งโลกอนาคต
เปิดตัวสถาบัน EdCA เพื่อพัฒนาหลักสูตร โค้ดดิ้งทักษะแห่งโลกอนาคต ณ ห้องสมุดภูมิภิรมย์ อาคาร 50 ปี วิศวะรวมใจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 3 กันยายน 2563 งานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อยกระดับบุคคลากรทางการศึกษา ครู และ นักเรียน ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร “โค้ดดิ้ง” ทักษะใหม่แห่งโลกอนาคต เพื่อให้พร้อมต่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทอง วิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) คุณพาคร วงศ์อนุตรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบัน EdCA คณะอาจารย์ และ สื่อมวลชนร่วมเป็นเกียรติในงาน
ภายในงานนี้ มีการจัดกิจกรรมนิทรรศการ แสดงผลงานเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนวิทยาการคำนวณโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือ Unplugged Coding พร้อมสาธิตกิจกรรมการจัดการสอนโค้ดดิ้งสำหรับเด็ก หลายๆ กิจกรรม เช่น
- กิจกรรม Problem-based Learning หรือ PBL
- กิจกรมพัฒนาหุ่นยนต์ด้วย บอร์ด micro:bit
- กิจกรรมโค้ดดิ้ง ด้วย Blocked – Based Programming
Ploblem-Based Learning (PBL) คืออะไร
Ploblem based Learning พรอบเบลม เบส เลินนิ่ง หรือ PBL คือกระบวนการการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิด และมีส่วนร่วมในกิจกรรมโดยออกแบบและและสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) กระบวนการจัดการการเรียนรู้แบบ PBL นี้จะเริ่มต้นจาก “การเลือกปัญหา” โดยเลือกปัญหาที่ผู้เรียนสนใจ หรือ ปัญหาที่อาจใกล้ตัวผู้เรียนที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน แล้วให้ผู้เรียนแก้ปัญหา โดยที่คุณครูอาจเปลี่ยนรูปแบบการสอนจากการยืนสอนอยู่หน้าห้อง มาเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง กระบวนการเรียนรู้รูปแบบนี้จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้เรียน ฝึกความคิดสร้างสรรค์ คือ ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency) การคิดยืดหยุ่น (flexibility) และ การคิดริเริ่ม (originality) เพราะผู้เรียนได้ ค้นคว้าหาข้อมูล เก็บข้อมูล คิด วิเคราะห์ ทดลองแก้ปัญหารูปแบบต่างๆ การใช้ประโยชน์งานกลุ่มที่มีความคิดที่หลากหลาย หรือขั้นตอนอื่นๆ ที่ผู้เรียนได้ออกแบบคิดแก้ปัญหา
บอร์ด micro:bit คืออะไร
ไมโครบิต หรือ micro:bit เป็นบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อการศึกษา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้ง และ สะเต็ม พัฒนาโดย บริษัท British Broadcasting Corp. (สถานีโทรทัศน์ BBC) ร่วมกับบริษัท Partner หลายๆ บริษัท เนื่องจากว่าไมโครบิตสามารถอ่านค่าเซ็นเซอร์ได้หลากหลายนำมาประมวลผล และ สามารถส่งคำสั่งให้ Actuator ทำงานตามคำสั่งได้ ในการโค้ดดิ้งบอร์ดไมโครบิตสามารถเขียนโค้ดได้บนระบบปฏิบัติการที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น MAC, Windows, iOS, Android หรือแสดงผล Editor บนเว็บแอพพลิเคชั่นที่เปิดด้วยเบราเซอร์ ที่เว็บไซต์ https://makecode.microbit.org/ ถึงแม้ว่าซอฟต์แวร์ในการเขียนโค้ดไมโครบิตอาจมีการพัฒนาบนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถเริ่มต้นเรียนรู้ได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องแสดงผลบนไมโครบิตจริงๆ เพราะจะมี micro:bit simulator หรือ ไมโครบิตจำลอง แสดงตัวอย่างหน้าตาไมโครบิตเมื่อคอมไพล์ให้ดูก่อนที่จะดาวน์โหลดไฟล์แล้วอัพโหลดชุดคำสั่งเข้าสู่บอร์ดไมโครบิตเพื่อทดลองคำสั่งจริง
Blocked – Based Programming คืออะไร
เพื่อให้ง่ายกับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงมีการพัฒนาวิธีการสั่งงานให้ง่ายขึ้นสำหรับเด็กๆ เราเรียกการโค้ดดิ้งด้วยการลากวางบล็อคคำสั่ง แล้วกำหนดค่าพารามิเตอร์ต่างๆในฟังก์ชั่นว่า บล็อค เบส โปรแกรมมิ่ง (block-based Programming) หรือ การเขียนโปรแกรมด้วยบล็อคคำสั่ง ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องรู้โครงสร้างภาษา ไวยากรณ์ และ วิธีการเรียกใช้งานคำสั่ง เพราะการพัฒนาโปรแกรมมิ่งด้วยบล็อคคำสั่งนั้นได้รวบรวมเอาคำสั่งพื้นฐาน ที่ใช้งานบ่อยไว้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผล การตรวจสอบเงื่อนไข การวนลูปทำซ้ำ การจัดการตัวแปร การคำนวณ และ ฟังก์ชั่น ผู้เรียนเพียงแค่ออกแบบขั้นตอนวิธี ลากวางคำสั่งที่ต้องการ แล้ว กำหนดค่า เพียงเท่านี้ก็สามารถเริ่มต้นเขียนโปรแกรมอย่างง่าย โดยไม่ต้องรู้ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็สามารถเขียนได้
Next post